เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่รพ.วชิระ ศ.นพ.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวภายหลังพิธีเปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2560 มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้พัฒนาความรู้ทางการแพทย์และนำเอานวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในบริบทของสังคมเมือง ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ ล่าสุดได้มีการศึกษาและพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยด้วยการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อน้ำเหลืองจากช่องท้องผ่านการส่องกล้องเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อลดอาการบวมน้ำเหลืองของแขน-ขาจากการรักษามะเร็งเต้านม หรือมะเร็งในอุ้งเชิงกราน และลดปัญหาการติดเชื้อด้วย ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดี แผลเล็ก เจ็บน้อย พักฟื้นไม่นาน ตอนนี้ครอบคลุมการรักษาของกองทุนสวัสดิการข้าราชการ แต่ก็จะมีค่าวัสดุสิ้นเปลืองอื่นๆ อีกราวๆ 1.5 หมื่นบาท
การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อน้ำเหลืองจากช่องท้องโดยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญของรพ.วชิระ นำโดย นพ.วุฒิชัย แสงประกาย ,นพ.ชาคริต เอี่ยมกิจการ, นพ.อมฤต ตาลเศวต และนพ.อุ้มยศ รัตนามหัทธนะ
นพ.ชาคริต ระบุว่า ภาวะบวมน้ำเหลืองอันเป็นผลมาจากการรักษาโรคต่างๆ อาทิ มะเร็งเต้านม มะเร็งอุ้งเชิงกราน เป็นต้น และเหตุที่ทำให้บวมเพราะความไม่สมดุลของสารต่างๆ ในเลือดหรือกระแสเลือดที่ไปคลั่งค้างอยู่ในบริเวณของเนื้อเยื่อ ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดการบวม หรือทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นๆ มีปัญหา ที่สำคัญคือกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน การรักษาจะเป็นแบบประคับประคอง โดยการผ่าตัด ใส่ปลอกแขนปลอกขาไม่ให้บวมมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ยุบลง ล่าสุด ทีมแพทย์จาก รพ.วชิระ ได้พัฒนาการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อน้ำเหลืองจากช่องท้องโดยการผ่าตัดแบบส่องกล้องขึ้นมา ซึ่งผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ การผ่าตัดใช้เวลาน้อย แผลเล็ก พักฟื้นไม่นาน ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้แทบจะเป็นปกติ
"ต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ในหลายจุดตามร่างกาย แต่ที่เลือกเอาต่อมน้ำเหลืองจากช่องท้อง หรือภาษาชาวบ้านเรียกผ้าขี้ริ้ว ซึ่งจะมีเส้นเลือดเป็นแกน และมีต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่น่าจะประสานกับระบบน้ำเหลืองที่มีการตีบตันได้ และกระตุ้นการเชื่อมต่อของระบบน้ำเหลืองใหม่"นพ.ชาคริตกล่าว
วิธีการคือ ศัลยแพทย์หลอดเลือดทำการประเมินหลอดเลือดว่ามีขนาดเท่าไหร่ อยู่ในสภาพที่พร้อมจะทำการผ่าตัดเชื่อมต่อหรือไม่ เบื้องต้นใช้การอัลตราซาวด์ดูหลอดเลือด ถ้าพบจุดไหนมีปัญหาก็รักษาที่จุดนั้นก่อน เมื่อคนไข้พร้อมก็เดินหน้าทำการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อน้ำเหลืองจากช่องท้องโดยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง เมื่อเก็บเนื้อเยื่อส่วนที่มีน้ำหล่อเลี้ยงแล้วนำมาปลูกถ่ายในบริเวณที่ต้องการ เสร็จแล้วก็ปลูกถ่ายผิวหนังเพื่อให้ปกปิดแผลต่อไป
"หลังจากการรักษาผู้ป่วยที่ผ่านมาผลค่อนข้างพึงพอใจและโดยรวมคนไข้พอใจกว่าทุกวิธีที่เราทำมา ส่วนการติดตามในระยะ 1 ปีก็จะพบว่าแผลลดลงไม่มีการติดเชื้อเช่นกัน คุณภาพของผิวหนังที่เมื่อก่อนเคยเป็นแผล ผัวหนังด้านข้างมีสะเก็ดก็ดีขึ้นเพราะน้ำเหลืองได้การระบายจากที่เราปลูกถ่าย ในระยะยาวผิวหนักที่ไว้จะมีสีเข้ม แต่เมื่อเวลาผ่านไปสีก็จะกลมกลืน"นพ.ชาคริตกล่าว
ที่มา NationTV