เพราะไม่มีใครสามารถย้อนเวลากลับไปยังอดีตได้ หลายคนจึงถวิลหาที่จะกลับไปสัมผัสบรรยากาศอันมากเสน่ห์ของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในอดีต จึงเป็นที่มาของการสร้าง "เรือนมัลลิกา ร.ศ.124" เมืองแห่งวัฒนธรรมที่จะพาเราย้อนยุคไปยังสมัยรัชกาลที่ 5 พาคนรุ่นใหม่ไปย้อนอดีตสัมผัสบรรยากาศเก่าแก่และงดงามของบ้านเมืองในสมัยนั้น
เมืองมัลลิกา ร.ศ.124 จัดสร้างขึ้นภายในเนื้อที่กว่า 60 ไร่ ใน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่จะพาทุกคนย้อนเวลานับ 100 ปี ไปสัมผัสรากเหง้าความเป็นไทยอย่างแท้จริงผ่านงานสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของชาวสยามในอดีต ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) หลังจากมีการประกาศเลิกทาส
นายพลศักดิ์ ประกอบ ผู้ก่อตั้งเรือนมัลลิกา ร.ศ.124 กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า เกิดจากความตั้งใจที่อยากจะสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่เหมือนมีชีวิตจริงๆขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดถึงวิถีชีวิต และภูมิปัญญญาของชาวไทยสมัยโบราณ ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่อยากจะเที่ยวให้ถึงแก่น ไม่ต้องการมาชื่นชมเพียงเศษซากหรือร่องรอยทางวัฒนธรรมที่หลงเหลือจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่ให้รู้ซึ้งถึงเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งส่งต่อความทรงจำอันงดงามในอดีตที่เกือบจะเลือนหายสู่คนรุ่นหลัง
ส่วนเหตุผลที่เลือกหยิบเอายุคสมัย ร.ศ.124 ที่รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเลิกทาสได้สำเร็จขึ้นมาเป็นรูปแบบในการสร้างเมืองนี้ เพราะในร.ศ. 124 เป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายขึ้นในแผ่นดินสยาม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนยุคนั้นอย่างมีนัยยะ ตั้งแต่การประกาศเลิกทาส การแผ่ขยายอิทธิพลจากโลกตะวันตกเข้ามาในแผ่นดินสยาม และนำไปสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างรากเหง้าของวิถีชีวิตคนไทยดั้งเดิมกับวัฒนธรรมตะวันตก จนได้รับการนิยามว่าเป็น ยุคทองแห่งความศิวิไลซ์
เมืองแห่งนี้เป็นเมืองโบราณที่มีชีวิต ตั้งแต่การเลือกใช้ชื่อ “มัลลิกา” ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำอิระวดีในพม่า อันได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมอารยธรรมโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ด้วยกัน
เมื่อได้เข้ามาเยือนในเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 พบว่าภายในประกอบไปด้วยเรือนไทย 4 ประเภท คือ เรือนเดี่ยว เรือนหมู่ เรือนคหบดี และย่านการค้า โดยเริ่มต้นเมื่อก้าวผ่านประตูเข้าสู่เมืองมัลลิกา ร.ศ.124 แล้วเดินเลียบคลองเพื่อข้ามสะพานหัน ก็จะได้ยินเสียงพูดจา “เจ้าคะ” “เจ้าค่ะ” “ขอรับ” เพื่อเชื้อเชิญให้ลองชิมอาหาร ทั้งคุณยาย คุณป้า หรือเด็กสาว ทุกคนต่างใส่โจงกระเบนและผ้าแถบรัดอกสีน้ำตาลเข้ม-อ่อน เป็นตัวแทนของชาวบ้านในเมืองมัลลิกา ร.ศ.124
จากนั้นจะพบกับการจำลองย่านการค้าที่คึกคักในสมัยนั้น เช่น ย่านสามแพร่ง ย่านเยาวราช ย่านบางรัก ที่มีร้านรวงมากมายไม่ว่าจะเป็น ร้านข้าวโพดคั่ว ร้านขนมไทยโบราณ เช่น ขนมจ่ามงกุฏ ขนมทองเอก ขนมหยกมณี ขนมบุหลันดั้นเมฆ ขนมครก ขนมน้ำดอกไม้ ขนมเรไร ขนมบ้าบิ่น ข้าวไข่ปลา เป็นต้น ซึ่งอาหารทุกอย่างที่จำหน่ายภายในเมือง ล้วนแล้วแต่เป็นสูตรจากชาววังขนานแท้ โดยมีคุณนภัสสร เจริญพานิชย์ ครูใหญ่ประจำครัวขนมหวานเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ผ่านขั้นตอนวิธีการผลิตอย่างละเอียด ด้วยการใช้เตาถ่านแบบดั้งเดิมที่ยากต่อการควบคุมอุณหภูมิไฟให้คงที่ สะท้อนความวิริยะและความพิถีพิถันก่อนที่จะประกอบอาหารคาวหวานในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ยังมีร้านยำส้มโอ ร้านหมูสะเต๊ะ ร้านนวดแผนไทย ร้านเครื่องเผา ถ้วยชาม ร้านน้ำอบ-น้ำหอม และแบงค์สยามกัมมาจล

ถัดจากย่านการค้าบนบก เราก็จะได้ไปสัมผัสบรรยากาศของเรือนแพ ย่านการค้าทางน้ำ ร้านค้าต่างๆ บรรยากาศการค้าขายในอดีตซึ่งเส้นทางหลักในการสัญจรไปมาคือทางน้ำ ดังนั้นเรือนแพเหล่านี้จะปลูกไว้ริมน้ำรายล้อมไปด้วยร้านค้ามากมาย เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวโบราณ ร้านขนมจีนโบราณ อีกหนึ่งร้านที่ห้ามพลาดคือ ร้านกาแฟตงฮู ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นร้านกาแฟที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น เพราะมีการนำเมล็ดกาแฟสดจากต่างประเทศเข้ามาใช้ ถัดมาคือร้านข้าวแกงที่สร้างจุดขายได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการนำเมนูข้าวแกงที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรด มานำเสนอเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับรสชาติของอาหารไทยแท้แบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายของชำร่วยเพื่อเป็นตัวแทนความทรงจำให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้ออีกด้วย
ฝั่งตรงข้ามกันนั้นคือเรือนเดี่ยว เป็นเรือนชาวบ้านซึ่งเป็นที่อยู่ของชนชั้นกรรมาชีพและชาวนา มีหน้าที่ผลิตปัจจัยพื้นฐานในการยังชีพด้วยการ ทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกผัก ณ เรือนนี้ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง ตั้งแต่การเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อส่งต่อไปใช้ในเรือนครัว กระบวนการสีและตำข้าวแบบโบราณ เพื่อให้ได้ข้าวสารมาบริโภค
ถัดมาคือเรือนคหบดี ซึ่งเป็นที่อยู่ของชนชั้นปกครอง กิจกรรมบนเรือนแห่งนี้จะเน้นงานไปที่งานฝีมือ เช่น งานใบตอง งานดอกไม้ งานเครื่องแขวน งานแกะสลัก ซึ่งเป็นผลงานศิลปะแสนประณีตที่หาชมได้ยาก อีกหนึ่งในความพิเศษของเรือนนี้คือ พื้นที่เรือนครัวที่จะสะท้อนวิถีชีวิตการทำอาหารอย่างวิจิตรงดงามของคนสมัยก่อน ช่วยคืนชีพหลากหลายภูมิปัญญาที่แทบจะสูญสลายไปแล้ว เช่น การหุงข้าวด้วยเตากระทะ การประกอบอาหารคาวหวานตามแบบฉบับโบราณแท้ โดยผลงานจากเรือนครัวทั้งหมดนี้ จะถูกส่งต่อไปใช้ประโยชน์จริง ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยจะนำไปใช้สำหรับต้อนรับแขก เช่นเดียวกับอาหารคาวหวานจะนำไปเลี้ยงพนักงานทุกคนในเมืองจำลอง
ในส่วนของเรือนหมู่เป็นเรือนสำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองของคหบดี โดยปกติเรือนเหล่านี้มักจะมีคณะนาฏศิลป์ของตัวเองสำหรับรับแขก ดังนั้นเรือนนี้จะสะท้อนวิถีชีวิตของนาฏศิลป์ไทย รวมทั้งความวิจิตรบรรจงของสำรับกับข้าวไทยที่ขึ้นชื่อทั้งรสชาติและหน้าตา อาหารที่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ อาหารที่นำมาจัดสำรับได้แก่ แกงบวน ยำใหญ่ใส่ทุกอย่าง หมี่กรอบ แกงมัสมั่นไก่ น้ำพริกและผักสด นอกจากนั้นแล้ว เรือนหมู่แห่งนี้ยังถือเป็นเรือนหมู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเมืองมัลลิกานอกจากการจำลองบ้านเมืองแล้ว ยังมีการจำลองให้เมืองนี้มีประชากรราว 400 คน ประกอบด้วยกลุ่มคนใน 3 ช่วงวัย ตั้งแต่ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ และวัยรุ่น เพื่อให้เป็นไปตามสภาพครอบครัวไทยในอดีต ทุกคนจะแต่งกายแบบโบราณคือนุ่งกระโจมออกและผ้าโจงกระเบน และดำรงชีวิตในแต่ละวันจะเหมือนจริงในยุคนั้น และการใช้จ่ายภายในเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 นักท่องเที่ยวต้องแลกเงินบาทไปเป็นเงินสตางค์สำหรับใช้จับจ่ายซื้อของอีกด้วย
มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มาเยือนเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 แล้วอยากอินกับบรรยากาศย้อนยุคให้เต็มที่ ทางเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 มีเครื่องแต่งกายที่สะท้อนถึงยุค ร.ศ.124 ไว้คอยบริการ โดยชุดผู้หญิงราคา 200 บาท ชุดเด็กผู้หญิงราคา 50-100 บาท ชุดผู้ชาย 100 บาท ชุดเด็กผู้ชาย 50 บาท เวลาการขายบัตรเข้าชมเมือง 09.00-17.30 น. เวลาเปิด-ปิดเมือง 09.00-19.00 น. ส่วนเวลาอาหารเย็นและการแสดงคือ 18.00-20.00 น.
เมืองมัลลิกาตั้งอยู่ตรงทางเข้าประสาทเมืองสิงห์ ติดกับปั๊มบางจาก ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี 32 กม. ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 3454 0884 -86
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
ขอบคุณบทสัมภาษณ์ - รูป